วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

ตัวแทนชาวจังหวัดภูเก็ต พังงา ข้องใจย้ายหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง


ตัวแทนประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต พังงาและชาวไทยใหม่จังหวัดภูเก็ตและอันดามัน ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมศิลปากรกรณีย้ายหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลางไปชุมพร

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.นี้นายจุฑา ประทีป ณ ถลาง กรรมการสืบสานตำนานเมืองภูเก็ตพร้อมด้วยนายพัฒน์ จันทร์แก้ว,นายชยต วิสารทพงศ์ และตัวแทนประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต พังงาและชาวไทยใหม่จังหวัดภูเก็ตและอันดามันประมาณ 15 คน ได้มาชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่ พร้อมกับถือป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมและยื่นหนังสือเปิดผนึกเรื่อง”ขอให้ชี้แจงเหตุผลประกอบการย้ายนางสาวอัจจิมา หนูคง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลางจังหวัดภูเก็ตและตอบข้อซักถามประชาชน” ที่เรียนถึงอธิบดีกรมศิลปากร โดยมีนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้รับหนังสือ

นายจุฑา ประทีป ณ ถลาง กรรมการสืบสานตำนานเมืองภูเก็ตกล่าวตอนหนึ่งว่าตามคำสั่งกรมศิลปากรที่ 59/2554 เรื่องย้ายข้าราชการ ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2554 รายนางสาวอัจจิมา หนูคง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลางจังหวัดภูเก็ต และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 โดยอ้างเหตุผลการย้ายเพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ในเรื่องนี้ จึงมีคำถามต่อนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากรว่านางสาวอัจจิมา หนูคง บริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลางขาดตกบกพร่องหรือขาดและไร้ประสิทธิภาพอย่างไร ในช่วงที่ผ่านมามีการประเมินผลงานข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2554 มาตรา 6(7) นอกจากนี้ อธิบดีกรมศิลปากร ใช้หลักเกณฑ์ใดในการประเมินด้วย

กรรมการสืบสานตำนานเมืองภูเก็ตกล่าวว่า หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง เป็นบุคลากรที่สำคัญต่อประชาชนจังหวัดภูเก็ต ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ ตลอดจนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปฏิบัติราชการได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่เคยมีหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง คนอื่นปฏิบัติได้เช่นนี้มาก่อน นอกจากนี้การโยกย้ายในครั้งนี้ เห็นความผิดปกติว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันหรือโยกย้ายนอกฤดูกาลเพราะทั่วประเทศ มีเพียง 2ตำแหน่งเท่านั้น คือ นางสาวสุขกมล วงศ์สวรรค์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ให้มาดำรงตำแหน่ง ภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ทั้งที่มีเงินเดือนเพียง 13,610 บาท ส่วนนางสาวอัจจิมา หนู คง ได้รับเงินเดือนสูงถึง 29,620บาท และมีประสบการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างดีและล่าสุดมีทั้งโครงการปรับปรุงหรือขยายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง โครงการบ้านชาวไทยใหม่ และที่สำคัญ มีส่วนร่วมติดต่อประสานงานและผลักดันโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานเมืองถลาง ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในเบื้องต้น ประมาณ 26 ล้านบาท

สำหรับการโยกย้ายนางสาวอัจจิมา หนูคง โดยไม่มีความเป็นธรรม ในครั้งนี้ ทางกรรมการสืบสานตำนานเมืองภูเก็ตและผู้เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา และทุกจังหวัดในอันดามัน จะเคลื่อนไหว ต่อสู้และตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ของการแต่งตั้งโยกย้ายต่อไป และอธิบดีกรมศิลปากร อาจจะอยู่ในข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 157 และผู้เกี่ยวข้องกำลังจะพิจารณาฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป เพราะใช้คำสั่งที่ขัดต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ของจังหวัดภูเก็ตและไม่สอดคล้องต่อกลุ่มประชาชน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการสร้างสรรค์โครงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ เพราะมีส่วนทำให้โครงการสำคัญต่างๆ ขาดตอนและผู้มาดำรงตำแหน่งใหม่ ยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ใดๆ จึงอยากจะเรียกร้องให้อธิบดีกรมศิลปากรตอบคำถามของกลุ่มประชาชน ภายใน 15 วัน และหลังจากนี้ จะไม่หยุดนิ่ง เพราะจะร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป

ขณะที่นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ลงนามในหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร เรื่องการย้ายข้าราชการ รายนางสาวอัจจิมา หนูคง ตำแหน่งภัณฑารักษ์ ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตไปดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์ ประเภทวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช จังหวัดภูเก็ตพิจารณาแล้วเห็นว่านางสาวอัจจิมา หนูคง เป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชนและประชาชน ดำเนินการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดภูเก็ตมากถึง 20 แห่ง ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวด้วยว่าจังหวัดภูเก็ตมอบหมายให้จัดทำโครงการสืบสานตำนานเมือง เพื่อเป็นหลักสูตรประกอบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและประการสำคัญคือจังหวัดภูเก็ตมอบหมายให้ ดำเนินโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานเมืองถลาง และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2554 และโครงการนี้กำลังดำเนินไปด้วยดี แต่ยังไม่แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์หากนางสาวอัจจิมา หนูคง ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขอให้อธิบดีกรมศิลปากรแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเดิมที่จังหวัดภูเก็ตจนกว่างานจะแล้วเสร็จ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้จังหวัดส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์แต่ไม่ทราบว่า หนังสือฉบับดังกล่าวนี้ ไปตกอยู่ที่ใด ทำให้จังหวัดภูเก็ต ยังไม่ได้รับคำตอบจนถึงวันที่ 5 มีนาคมนี้ และขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ในช่วงที่ผ่านมาการทำงานร่วมกับนางสาวอัจจิมา หนูคง ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและงานด้านประวัติศาสตร์ เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น ในการทำงาน และมีทักษะและความสามารถ ที่จะติดต่อประสานงาน ให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน เป็นไปด้วยดี ทำให้แผนงานโครงการทุกอย่างมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน การโยกย้ายครั้งนี้ มีผลกระทบต่อโครงการที่คั่งค้างอยู่อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี จังหวัดภูเก็ตจะพิจารณาประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ตทั้ง 2 คน ที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ตลอดจนให้หารือกับนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในเรื่องการโยกย้ายข้าราชการในสังกัดต่อไป

ข้อมูลจาก...เสียงใต้ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป ใช้คำสุภาพ