วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กรณีการร้องเรียนมูลนิธิพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 แอบอ้างสถาบันเบื้องสูง เพื่อหารายได้จากเงินบริจาคของประชาชน

ภูเก็ตประชุม พิจารณากรณีการร้องเรียนมูลนิธิพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 แอบอ้างสถาบันเบื้องสูง เพื่อหารายได้จากเงินบริจาคของประชาชน พบมีการดำเนินการผิดวัตถุประสงค์


เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 31 พ.ค.2554 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม กรณีร้องเรียนการแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อหารายได้จากเงินบริจาคของประชาชน โดยมีนายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.พรศักดิ์ นวนหนู รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นายประยูร หนูสุก วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นายภพพล ศิริลักษณะพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยเอก บุญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ผู้แทนจากอำเภอเมืองภูเก็ต สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ฯลฯ ร่วมประชุม

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาในเรื่องบัญชีรายรับรายจ่ายของมูลนิธิพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 ซึ่งมีนายสุพร วานิชกุล เป็นประธานมูลนิธิฯ และในประเด็นนี้จากการตรวจสอบของอำเภอเมืองภูเก็ต พบว่าทางมูลนิธิฯ มีบัญชีรายรับรายจ่ายที่ไม่ชัดเจน ตั้งแต่ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างมาจนถึงขณะนี้ ไม่สามารถเอาบัญชีงบดุลมาแสดงให้ดูได้ โดยนายสุพร อ้างว่า ทางมูลนิธิฯ ได้รับมอบหมายจากทางเจ้าอาวาสวัดกะตะ ให้มาดำเนินการสร้างพระพื้นที่บริเวณยอดเขานาคเกิดนี้เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องของบัญชีงบดุลต่างๆ

ส่วนประเด็นพิจารณาเรื่องการขยายพื้นที่ก่อสร้างพระใหญ่ บนเทือกเขานาคเกิด ของมูลนิธิฯ จนไปกระทบกับพื้นที่ ที่อยู่รอบนอก นายภพพล ศิริลักษณะพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าไม้เสื่อมโทรม จำนวน 42 ไร่ ทางกรมป่าไม้ ได้ร่วมกับทางวัดสร้างเป็นสวนปฏิบัติธรรม (ไม่มีอาคาร ไม่มีค้างคืน) มีการสร้างพระองค์เหลืองขนาดหน้าตักประมาณ 19 นิ้ว แล้วก็มีการฟื้นฟูดูแลป่าไม้โดยรอบด้วย

โดยทางวัดได้ให้คุณสุพร เข้ามาดำเนินการจดทะเบียน และดำเนินการจัดสร้าง ในปี 2545 และเมื่อจัดสร้างแล้วเสร็จต้องเป็นของวัดกะตะ แล้วให้ทางป่าไม้เข้าไปดูแล แต่ทางคุณสุพร นอกจากจะจัดสร้างพระองค์เหลืองขนาดหน้าตักประมาณ 19 นิ้ว ดังกล่าวแล้ว ยังจัดสร้างพระใหญ่ด้วย และจนถึงตอนนี้ ซึ่งมีการขออนุญาตก่อสร้างกับทางกรมป่าไม้ไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2545-2549 และครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2550-2554 แต่การจัดสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีการขยายพื้นที่ก่อสร้างออกไปเรื่อยๆ จนไปกระทบกับพื้นที่รอบนอกของชาวบ้าน ทำให้มีการร้องเรียนเข้ามา

“ถ้าผู้ดำเนินการมีเจตนาบริสุทธิ์ คิดว่าการก่อสร้างพระน่าจะแล้วเสร็จ แล้วก็ปรับปรุงภูมิทัศน์ตามข้อตกลง รื้ออาคารสิ่งปลูกสร้างออก เพราะไม่มีกำหนดให้สร้าง และเมื่อสร้างแล้วเสร็จส่งมอบให้วัด และให้ทางกรมป่าไม้เข้ามาดำเนินการต่อ” นายภพพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ได้มีการเสนอเงื่อนไข ให้ทางมูลนิธิฯ ไปทำแนวเขตก่อสร้างให้ชัดเจน พร้อมกับขึ้นป้ายว่าพื้นที่ตรงนี้ได้รับอนุญาตจากป่าไม้ให้ดำเนินการตรงส่วนใดบ้าง อย่างไร ให้ทางมูลนิธิฯ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขการดำเนินการออกไป และให้กำหนดระยะเวลากำก่อสร้างพระให้ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จวันไหนด้วย

และนอกจากนี้ยังมีการชี้แจงรายระละเอียดในประเด็นการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 พระบรมราชานุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพร พร้อมทั้งพระปรมาภิไธย ย่อ จปร.มาประดิษฐาน บริเวณสถานที่จัดสร้างพระใหญ่

ตรงส่วนนี้ ทางร้อยเอก บุญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต บอกว่าการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ของกระษัตริย์ ทั้งหมด ต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่นี้จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการสร้างโดยพละการ การดำเนินการผิดระเบียบว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์ ซึ่งตรงส่วนนี้เห็นควรที่จะอัญเชิญออกไปก่อน แต่ถ้าทางมูลนิธิฯ มีความประสงค์ที่จะจัดสร้าง ก็ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ กำหนด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ส่วนทางด้านนายประยูร หนูสุก วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ได้ชี้แจงประเด็นการใช้สื่อ ใช้คำที่ไม่เหมาะสมซึ่งเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น คำว่า สร้างวัดถวายพ่อ หล่อพระถวายแม่ เรื่องนี้ก็ได้แจ้งไปยังประธานมูลนิธิพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 เป็นลายลักษณะอักษรว่าให้ดำเนินการแก้ไข พร้อมกับได้มีการระงับเรื่องการใช้คำที่ไม่เหมาะสมไปแล้วด้วย

นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เรื่องสร้างพระนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นจุดรวมแห่งความศรัทธา เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ แต่ถ้าไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายต้องไปดำเนินการแก้ไข ซึ่งตามที่คณะกรรมการไปตรวจสอบก็พบว่ามีบางส่วนที่ไม่ถูกต้อง โดยในเรื่องบัญชี ขอให้ทางอำเภอเมืองไปดำเนินการรายงานมาในเรื่องของมูลนิธิ ว่ารายรับรายจ่ายที่ไม่ชัดเจนเป็นอย่างไร และฝากให้ทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต (ทสจ.)ไปดูวัตถุประสงค์ ที่ทางมูลนิธิฯ ขอไปกับทางที่มูลนิธิทำนั้นคืออะไร ทางเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ก่อนที่จะต่อใบอนุญาตก่อสร้างให้กับทางมูลนิธิฯ ไปอีก 5 ปี ในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

สารภี ศรีธรรมรัตน์ สนับสนุนข่าว/ โสภณ เคี่ยมการ ส.ปชส.ภูเก็ต/ทาน

1 ความคิดเห็น:

ความคิดเห็นทั่วไป ใช้คำสุภาพ