วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปธ.คณะกรรมการฯเตือนภัยพิบัติแห่งชาติวอนรัฐดูแลระบบเตือนภัยภาคใต้ หลังพบไร้ประสิทธิภาพ

 ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ติงระบบเตือนภัยภาคใต้ไม่มีประสิทธิภาพ ฝากภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น

วันที่ 19 ก.ค.53 ที่อาคารเอนกประสงค์เทศบาลนครตรัง นายสมิทธ ธรรมสาโรช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก หรือ Eart Science ให้กับบุคลาการทางการศึกษาของจังหวัดตรัง จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรัง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง จัดขึ้น

เนื่องจากเห็นว่าในปัจจุบันเรื่องของภัยพิบัติ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยตรง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ หรือป้องกันการสูญเสียจากธรณีพิบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งที่จังหวัดตรัง ขณะนี้ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การเกิดสึนามิ การเกิดรอยแยกของแผ่นดิน การเกิดหลุมยุบหรือ Silk Hole ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน เป็นต้น

โดยนายสมิทธิ ธรรมสาโรช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวต่อผู้เข้ารับการอบรมว่า แม้จังหวัดตรังจะโชคดีกว่าจังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เมื่อครั้งเกิดภัยสึนามิ เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นเกาะแก่งป้องกันภัยต่างๆ ได้ แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ภัยพิบัติอื่นๆ หลายรูปแบบเกิดขึ้น

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมป้องกันรับมือปัญหา โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องนำความรู้ที่ได้รับตลอดทั้ง 3 วัน คือ วันที่ 19-21 ก.ค.53 นี้ ไปเผยแพร่สู่นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและนอกระบบ ในการร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก และสภาวะโลกร้อน

นอกจากนั้น ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังได้แสดงความเป็นห่วงการเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ว่า เริ่มเกิดถี่ขึ้น ในขณะที่ระบบเตือนภัยภายในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งมักใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ส่วนระบบเตือนภัยที่มีอยู่ ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงอยากฝากภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น

ขอบคุณ...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป ใช้คำสุภาพ